logo

ประวัติความเป็นมา

 

 
 

 

ประวัติภาควิชาศัลยศาสตร์รามาธิบดี

                ได้จากการรวบรวมคำสัมภาษณ์ ท่านอาจารย์ผู้ก่อตั้งภาควิชาศัลยศาสตร์ และ อาจารย์อาวุโสทุกๆ ท่าน ตลอดจนรวบรวมข้อมูลจากที่มีบันทึกในหนังสือหลายๆ เล่ม ในอดีตมาประกอบและเรียบเรียงเป็นบทความ “กำเนิดภาควิชาศัลยศาสตร์รามาธิบดีดังนี้

ยุคที่ 1 เริ่มก่อตั้งภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี พ.ศ.2508-พ.ศ.2512

ยุคที่ 2 (พ.ศ. 2512-พ.ศ. 2522) ระยะบุกเบิกและเริ่มพัฒนา

ยุคที่ 3 (พ.ศ. 2522-พ.ศ.2532) ระยะพัฒนาผู้เชี่ยวชาญของภาควิชาศัลยศาสตร์

ยุคที่ 4 (พ.ศ.2532-พ.ศ.2542) ระยะไฮเทค

ยุคที่ 5 (พ.ศ.2542-พ.ศ.2552) ยุคเลือดใหม่

ยุคที่ 6 (พ.ศ.2552-พ.ศ.2562) ยุค Organ Oriented and Minimal Invasive Surgery

 

ยุคที่ 1 เริ่มก่อตั้งภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี พ.ศ.2508-พ.ศ.2512

                ในปี พ.ศ.2507-2508 คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดีเป็นผลพลอยได้จากคณะวิทยาศาสตร์ และไม่ได้ตั้งใจจะตั้งขึ้นตั้งแต่แรก แต่เป็นเพราะ ดำริของ ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์  มงคลสุข และคุณหลวงเฉลิม พรหมมาศ ซึ่งเป็นผู้ติดต่อกับมูลนิธิ Rockyfeller มองเห็นว่าอาจารย์ทางคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์มีน้อย มูลนิธิ Rockyfeller จึงให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ต่อมาสืบดูแล้วปรากฏว่า บัณฑิตที่จบจากคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีหลายคนอยากจะเป็นแพทย์ จึงมีการปรึกษาหารือกันกับ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ อารี วัลยะเสวี เพื่อดำเนินการจัดตั้งโรงเรียนแพทย์ใหม่ขึ้น

                ในปี พ.ศ.2508 อาจารย์ นายแพทย์ จินดา สุวรรณรักษ์ ได้ทราบข่าวจากคุณ อานันท์ ปันยารชุน ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเลขานุการเอกของผู้แทนถาวรของประเทศไทยประจำสหประชาชาติว่า  ศาสตราจารย์ นายแพทย์ชัชวาล    โอสถานนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์และคณะของท่านคือ ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข และ Professor.Dr.Dinning ผู้แทนมูลนิธิ Rockyfeller ประจำประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้ให้การสนับสนุนการสร้างโรงเรียนแพทย์แห่งใหม่ และต่อมา คือ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ขณะนั้นมาพักอยู่ที่บ้านคุณ อานันท์ ปันยารชุน โดยมีความประสงค์จะมาดูงานในโรงพยาบาลที่ อาจารย์ นายแพทย์ จินดา สุวรรณรักษ์ ปฏิบัติงานอยู่

                การมาดูงานครั้งนี้เพื่อหาข้อมูลและประสบการณ์ของโรงเรียนแพทย์ในสหรัฐอเมริกา ที่คิดว่ามีลักษณะใกล้เคียงกับคณะแพทยศาสตร์ที่กำลังจะสร้างขึ้นในกรุงเทพฯ จึงได้เลือกโรงพยาบาล Jacobi Hospital ของ Albert Einstein College of Medicine เพราะเป็นโรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์ค่อนข้างใหม่และรักษาผู้ป่วยยากไร้ ซึ่งคาดว่าจะมีความใกล้เคียงกับวัตถุประสงค์ของคณะผู้มาดูงาน

                อาจารย์ นายแพทย์ จินดา สุวรรณรักษ์ ขณะนั้นสอบได้ American Board of Surgery แล้ว และกำลังจะเดินทางกลับประเทศไทย ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ชัชวาล โอสถานนท์ จึงได้ชวน อาจารย์ นายแพทย์ จินดา สุวรรณรักษ์ ให้มาปฏิบัติงานที่โรงเรียนแพทย์แห่งใหม่ ซึ่งกำลังจะสร้างขึ้นโดยจะฝากให้ทำงานอยู่ที่ภาควิชาศัลยศาสตร์               คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ไปก่อนจนกว่า คณะแพทยศาสตร์แห่งใหม่จะเปิดทำการ

                เมื่ออาจารย์ นายแพทย์ จินดา สุวรรณรักษ์ มาปฏิบัติที่ภาควิชาศัลยศาสตร์คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จึงได้รู้จัก นับถือและสนิทสนมกับ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ เปรม บุรี 

ต่อมา  ศาสตราจารย์ นายแพทย์ อารี วัลยเสวี ได้พยายามรวบรวมอาจารย์แพทย์ เพื่อก่อตั้งคณะแพทยศาสตร์แห่งใหม่ขึ้น  ศาสตราจารย์ นายแพทย์ อารี วัลยเสวี จึงได้มาชวน อาจารย์ นายแพทย์ จินดา สุวรรณรักษ์ ให้มาปฏิบัติงาน ที่คณะแพทยศาสตร์แห่งใหม่นี้ 

            ด้วยความเคารพและนับถือในวิสัยทัศน์  ทัศนคติ ความเป็นผู้นำและความรู้ของ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ เปรม บุรี  อาจารย์ นายแพทย์ จินดา สุวรรณรักษ์ จึงได้เรียนเชิญ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ เปรม บุรี มาเป็นหัวหน้าทีมในการก่อตั้งภาควิชาศัลยศาสตร์ ในคณะแพทยศาสตร์แห่งใหม่

ขณะนั้น ศาสตราจารย์ นายแพทย์ เปรม บุรี ปฏิบัติงานอยู่ที่ภาควิชาศัลยศาสตร์คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มีตำแหน่งเป็นหัวหน้าสาขาศัลยศาสตร์หลอดเลือดและยังเป็นผู้อำนวยการโครงการแพทย์เคลื่อนที่ปฏิบัติงานอยู่ที่จังหวัดอุดรธานี  มีงานติดพันอยู่ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ เปรม บุรี จึงปฏิเสธที่จะย้ายมาปฏิบัติงานที่                    คณะแพทยศาสตร์แห่งใหม่ ถึง 2 ครั้ง เมื่อได้รับการชักชวนเป็นครั้งที่ 3 ศาสตราจารย์ นายแพทย์ เปรม บุรี จึงได้ปรึกษา ศาสตราจารย์ นายแพทย์อุดม โปษะกฤษณะ ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์และ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล  ศาสตราจารย์ นายแพทย์ อุดม โปษะกฤษณะ ได้แนะนำให้ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ เปรม บุรี มาช่วย ศาสตราจารย์ นายแพทย์ อารี วัลยเสวี ก่อตั้งคณะแพทยศาสตร์ รวมถึงภาควิชาศัลยศาสตร์ แห่งใหม่ขึ้น

คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี[1]เป็นโรงเรียนแพทย์แห่งใหม่ เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2508[2] โดยการรวบรวมอาจารย์แพทย์ของ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ อารี วัลยเสวี จากโรงเรียนแพทย์ที่เปิดมาก่อนหน้านั้น ส่วนใหญ่มาจาก   คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาลและคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมถึงอาจารย์แพทย์ที่สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และ ออสเตรเลีย

ภาควิชาศัลยศาสตร์เดิมคือ แผนกศัลยศาสตร์ได้ก่อตั้งขึ้นเป็น 1 ใน 7 แผนกวิชา ตามพระราชกฤษฎีกา มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2508 ได้แก่                   

                     1.แผนกศัลยศาสตร์                                              2. แผนกอายุรศาสตร์

                                3. แผนกพยาธิวิทยา                                             4.แผนกสูตินรีเวชวิทยา

                                5.แผนกรังสีวิทยา                                                 6.แผนกกุมารเวชศาสตร์

                                7.แผนกจักษุวิทยา และ โสตสอนาสิก                     8.ฝ่ายโรงเรียนพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัย 

ต่อมาในปีพุทธศักราช 2512 มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ได้เปลี่ยนชื่อเป็น มหาวิทยาลัยมหิดล

                ศาสตราจารย์ นายแพทย์ เปรม บุรี ได้รวบรวม ศัลยแพทย์ที่มีอัธยาศัย และทัศนคติตรงกันให้มาร่วมงาน ที่ภาควิชาศัลยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้แก่

1. อาจารย์ นายแพทย์ มรว.กัลยาณกิติ์  กิติยากร                            

2. อาจารย์ นายแพทย์ สิระ  บุญยะรัตเวช                         

3. อาจารย์ นายแพทย์ จินดา  สุวรรณรักษ์                        

4. อาจารย์ นายแพทย์ วิจิตร  บุณยะโหตระ      

5. อาจารย์ นายแพทย์ ไพฑูรย์  คชเสนี              

6. อาจารย์ แพทย์หญิง สมปอง   รักษาศุข                         

7.อาจารย์ นายแพทย์ สมาน   ตระกูลทิม

8. อาจารย์ นายแพทย์ เนาวรัตน์ เซ็นสาส์น

9. อาจารย์ นายแพทย์ วัชรี  พรหมทัตตเวที

         10. อาจารย์ นายแพทย์ ศุภวัตร  พรรณเชษฐ์                        

        11. อาจารย์ นายแพทย์ วีระ  วิเศษสินธุ์                                

        12. อาจารย์ แพทย์หญิง จิรพรรณ  มัธยมจันทร์

        13. อาจารย์ นายแพทย์ ดิเรก  อิศรางกูร ณ อยุธยา                               

                          

แผนกศัลยศาสตร์ ได้ดำเนินงานภายใต้การนำของ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ เปรม บุรี[3] มีพันธกิจหลัก 3 ประการซึ่งมีความสัมพันธ์กันอย่างมาก ได้แก่

1.           การบริการผู้ป่วย

2.           การเรียนการสอน

3.           วิชาการและวิจัย

ในระยะแรกแผนกศัลยศาสตร์ประกอบด้วยหน่วยต่างๆ ดังนี้

1.           ศัลยศาสตร์ทั่วไปสาย A  หัวหน้าหน่วย คือ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ เปรม บุรี 

2.           ศัลยศาสตร์ทั่วไปสาย B หัวหน้าหน่วย คือ อาจารย์ นายแพทย์ จินดา สุวรรณรักษ์

3.           ประสาทศัลยศาสตร์  หัวหน้าหน่วย คือ อาจารย์ นายแพทย์ สิระ บุณยะรัตเวช

4.           ศัลยศาสตร์หัวใจและทรวงอก  หัวหน้าหน่วย คือ อาจารย์ นายแพทย์ ม.ร.ว.กัลยาณกิตติ์ กิติยากร

5.           ศัลยศาสตร์ระบบทางเดินปัสสาวะ หัวหน้าหน่วย คือ  อาจารย์ นายแพทย์ ไพทูรย์ คชเสนี

6.           ศัลยศาสตร์ตกแต่งและแม็กซิโลเฟเชียล หัวหน้าหน่วย คือ อาจารย์ นายแพทย์ วิจิตร บุณยะโหตระ

7.           ศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์  หัวหน้าหน่วย คือ  อาจารย์ นายแพทย์ ดิเรก อิศรางกูร ณ อยุธยา

8.           หน่วยวิสัญญีวิทยา หัวหน้าหน่วย คือ อาจารย์ แพทย์หญิง จิรพรรณ มัธยมจันทร์



[1]นาม “รามาธิบดี” นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทาน เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน  2508

[2] ดังนั้น  ในช่วงก่อตั้งรามาธิบดียุคแรก  ยังคงสังกัดคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ในมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ จนกระทั่งปี 2512

[3] หัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์คนแรก